โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัว เมื่อใคร ๆ ก็สามารถเป็นโรคติดได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญเพื่อเสริมสร้างความรู้เท่าทันต่อปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในชีวิตประจำได้
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) คือโรคอะไร ?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ STDs (Sexually Transmitted Diseases) หรือ การติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ STIs (Sexually Transmitted infections) เป็นการติดเชื้อจำพวก ไวรัส แบคทีเรีย และปรสิต เชื้อสามารถส่งต่อจากคนสู่คนผ่านเลือด น้ำอสุจิ อวัยวะเพศ และของเหลวในร่างกาย ซึ่งมักส่งต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ แต่นอกเหนือจากเพศสัมพันธ์แล้ว โรค STDs ยังสามารถส่งต่อจากคนสู่คนด้วยการใช้เข็มร่วมกัน การให้เลือดแม้กระทั่งจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์ หรือขณะคลอดบุตรได้
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) มีโรคอะไรบ้าง ?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นการนิยามลักษณะการติดเชื้อที่พบได้จากการมีเพศสัมพันธ์ แต่บางโรคก็สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้หลายวิธีไม่ได้จำกัดแค่การมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียว ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยมีดังนี้
หนองใน (Gonorrhea)
หนองในเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถรับเชื้อได้ผ่านทางอวัยวะเพศ ทวารหนักและปาก ผู้ที่ติดเชื้อเพศชายมักมีอาการปวดแสบเมื่อปัสสาวะ ในขณะที่เพศหญิงมักมีอาการเดียวกันแต่ไม่รุนแรงเท่าเพศชาย ผู้ป่วยโรคหนองบางรายแม้จะติดเชื้อแต่ก็ไม่แสดงอาการ และโรคนี้สามารถส่งต่อเชื้อแบคทีเรียไปยังทารกระหว่างการคลอดบุตรได้
หนองในเทียม (Chlamydia)
หนองในเทียมเกิดจากการติดเชื้อคลามัยเดีย (Chlamydia trachomatis) อาการใกล้เคียงกับโรคหนองในสามารถติดต่อได้ทั้งชายและหญิง ผ่านทางช่องคลอดและทวารหนัก ในเพศหญิงสามารถส่งต่อเชื้อไวรัสไปยังทารกได้ระหว่างการคลอดบุตร
เริมที่อวัยวะเพศ (Genital herpes)
โรคเริมเป็นผิวหนัง มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ HSV (Herpes Simplex Virus) สามารถติดเชื้อได้หลายทางรวมถึงผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางช่องคลอดและทวารหนัก โรคนี้มักจะทำให้เกิดตุ่มที่อวัยวะเพศและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งไวรัสสามารถแพร่กระจายได้แม้ผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ และโรคนี้สามารถส่งต่อเชื้อไวแบคทีเรียไปยังทารกระหว่างการคลอดบุตรได้
การติดเชื้อ HIV
HIV เป็นเชื้อไวรัสที่เข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย สามารถทำให้เกิดภาวะคุ้มกันบกพร่องหรือ AIDS ซึ่งอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา เชื้อ HIV สามารถแพร่ไปยังทารกได้ขณะตั้งครรภ์และให้นมบุตร
การติดเชื้อ HPV
เชื้อ HPV เป็นกลุ่มเชื้อไวรัสที่มีมากกว่า 200 ชนิด ซึ่งมีประมาณ 40 ชนิดที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บางชนิดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ และบางชนิดเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง
โลน (Pubic lice)
โลนเป็นปรสิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บริเวณหัวหน่าวและอวัยวะเพศ บางครั้งก็พบในขนส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขนขา รักแร้ หนวด เครา ขนตา คิ้ว เป็นต้น ตัวโลนอาศัยอยู่บนร่างกายมนุษย์ด้วยการดูดเลือดมนุษย์เป็นอาหาร และเนื่องจากโลนไม่สามารถกระโดดหรือบินได้จึงแพร่กระจายด้วยการสัมผัสโดยตรง หรือผ่านผ้าที่ใช้ร่วมกันเช่นผ้าเช็ดตัวหรือผ้าปูเตียง
ซิฟิลิส (Syphilis)
ซิฟิลิสเป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย สามารถติดเชื้อได้ทาง บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ช่องปากและริมฝีปาก ในเพศหญิงสามารถส่งต่อเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้ ซิฟิลิสจะทำให้เกิดแผลผื่นบนผิวหนัง ซึ่งแผลผื่นที่เกิดจากซิฟิลิสจะทำผู้ป่วยรับและแพร่เชื้อ HIV ได้ง่ายขึ้น ในบางกรณีซิฟิลิสสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis)
พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis หรือ Trich) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่โรคนี้มักไม่แสดงอาการ แต่ผู้ติดเชื้อบางรายอาจจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ 5-28 วัน โรคนี้พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่พบบ่อยในเพศหญิง และมักมีอาการชัดเจนกว่าเพศชาย
ไวรัสตับอักเสบบี
โรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคตับที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs)
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถ ทำได้แต่ไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากบางโรค สามารถแพร่เชื้อได้หลายช่องทาง อย่างไรก็ตามการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยจะช่วยให้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่มีเพศสัมพันธ์อย่างถูกต้อง
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนเดียวที่ไม่มีความเสี่ยงต่อโรค
- รักษาความสะอาดร่างกาย และบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้โรคบางโรคสามารถป้องกันได้ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเช่น วัคซีนไวรัสตับอีกเสบบี และวัคซีน HPV ซึ่งสามารถฉีดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง
พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs)
การมีกิจกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัยทำให้เสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น ซึ่งกิจกรรมทางเพศที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อยกตัวอย่าง เช่น
- การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย หรือถุงยางอนามัยฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์
- การใช้สารเสพติดร่วมขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการใช้สารเสพติดที่มีการใช้เข็มร่วมกัน
- การที่ตนหรือคู่นอนมีประวัติติดเชื้อมาก่อน แต่ไม่ได้ป้องกันอย่างถูกต้อง
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ปัจจุบันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคสามารถรักษาให้หายได้ บางโรคสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ และผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัว และสังคมได้ เมื่อเข้ารับการรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ การตระหนักรู้เรื่องเพศและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงเป็นเรื่องที่ควรรู้เป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพื่อให้รู้ทันภาวะเสี่ยงและเข้ารับการวินิจให้ทันท่วงที ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว